โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่อง จนมักขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว และส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด หลายคนที่ยังไม่รู้ตัวว่าเป็น ก็อาจเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงอารมณ์เศร้า เดี๋ยวก็คงดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเป็นโรคนี้ ต้องได้รับการตรวจซึมเศร้าเพื่อยืนยันโรค และใช้วิธีดูแลรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่สามารถสังเกตได้จากหลายอาการ โดยหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในการประเมินภาวะซึมเศร้าคือ แบบทดสอบโรคซึมเศร้า PHQ-9 ซึ่งประกอบด้วย 9 ข้อ โดยผู้ทำแบบทดสอบจะต้องประเมินตนเองว่า เคยมีอาการเหล่านี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ ดังนี้
⦁ รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สนใจ หรือไม่มีความสุขกับสิ่งรอบตัว
⦁ รู้สึกเศร้า หดหู่ หรือหมดหวัง
⦁ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ทั้งนอนไม่หลับ ตื่นบ่อย หรือนอนมากเกินไป
⦁ รู้สึกเหนื่อยล้า หรือขาดพลังงาน
⦁ เบื่ออาหาร หรือกินมากผิดปกติ
⦁ รู้สึกแย่กับตัวเอง หรือรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว
⦁ มีปัญหาด้านสมาธิ เช่น ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้
⦁ เคลื่อนไหวช้าลง หรือกระสับกระส่ายมากกว่าปกติ
⦁ เริ่มคิดว่าอยากทำร้ายตนเอง หรืออยากจบชีวิตลง
หากตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้บ่อยครั้งและต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณของโรค จึงควรได้รับการตรวจซึมเศร้าโดยเร็วผ่านแบบทดสอบโรคซึมเศร้า ภายใต้การดูแลและคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อประเมินอาการอย่างละเอียด และหาแนวทางดูแลที่เหมาะสม
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ โดยแนวทางหลัก ๆ ได้แก่
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิด
การดูแลสุขภาพจิตเริ่มต้นได้จากการปรับพฤติกรรมและแนวคิดในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าและเสริมสร้างสภาพจิตใจให้แข็งแรงขึ้น วิธีที่สามารถทำได้ทันทีเลยก็คือ
⦁ ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) หรือที่เรียกว่า “สารแห่งความสุข” ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า กิจกรรมที่แนะนำ เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือโยคะ หรือถ้าไม่มีเวลาเลย แค่เลือกออกกำลังกายง่าย ๆ เบา ๆ ที่สามารถทำได้ทุกวัน วันละ 30 นาที ก็สามารถช่วยให้จิตใจผ่อนคลายได้มากขึ้น
⦁ จัดเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับที่ได้คุณภาพจะส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และพลังงานในแต่ละวัน จึงควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน และพยายามนอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวันด้วย
⦁ ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย การฝึกสมาธิจะช่วยให้จิตใจสงบ ลดความฟุ้งซ่าน และช่วยจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น สามารถเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิวันละ 5-10 นาที หรือฝึกการหายใจลึก ๆ (Deep Breathing) ซึ่งช่วยให้ระบบประสาทสงบลง นอกจากนี้การฝึกโยคะยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมาธิไปพร้อมกับการออกกำลังกายได้ ยิ่งทำให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
2. การทำจิตบำบัด
จิตบำบัด หรือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจแนวคิดที่เป็นต้นเหตุของภาวะซึมเศร้า และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด
3. การใช้ยา (กรณีที่จำเป็น)
หากอาการรุนแรงต้องรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อตรวจซึมเศร้า และแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมองร่วมด้วย
โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่มีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว หากพบอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินและกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และหากคุณต้องการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือตรวจซึมเศร้า สามารถติดต่อคลินิกสุขภาพจิต Happy Me Clinic เพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมช่วยเหลือคุณได้ตลอดเวลา